การผ่าตัดนิ่วในถุงนํ้าดีด้วยกล้องวีดีทัศน์
การผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยกล้องวีดิทัศน์ LAPAROSCOPIC CHOLECYSTECTOME

 

การผ่าตัด ถุงน้ำดี อาจทำได้โดยวิธีเปิดท้อง หรือโดยวิธี Laparoscopic Cholecystectomy ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมของศัลยแพทย์ และสถานที่ที่ให้การรักษานั้น ๆ การผ่าตัดโดยวิธีเปิดหน้าท้อง เป็นวิธีมาตรฐานดั้งเดิม การผ่าตัดโดยวิธี laparoscopy เป็นวิธีการใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ ศัลยแพทย์จะต้องได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะ อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่มีข้อดีที่ทำโดยเจาะรูหน้าท้อง แผลเล็ก หลังผ่าตัดเจ็บน้อยกว่า ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลระยะสั้น ส่วนใหญ่กลับบ้านได้ภายใน 48 ชั่วโมง ฟื้นตัวได้เร็วและกลับไปใช้ชีวิตปกติ หรือกลับไปทำงานได้เร็วกว่าวิธีเปิด อย่างไรก็ตามมีโอกาสซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนการผ่าตัดเช่นนี้ เป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องประมาณ 5% หากศัลยแพทย์เห็นว่า การผ่าตัดเช่นนั้นต่อไป ทำได้ยากลำบาก ลักษณะกายวิภาคไม่ชัดเจน หรือมีโอกาสเสี่ยงอันตรายหรือโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น

ในขณะนี้อาจถือได้ว่า การผ่าตัดแบบ laparoscopic เป็นมาตรฐานใหม่ ที่ได้ผลดีเท่ากับวิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ซึ่งยังถือเป็นวิธีมาตรฐานอยู่

  1. กรณีที่ไม่ควรทำผ่าตัดโดยวิธี laparoscopy
    1.1  ผู้ป่วยที่สุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะใช้วิธีการนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดบางราย
    1.2  เมื่อการวินิจฉัยก่อนผ่าตัดแสดงว่า อาจจะมีพยาธิสภาพอย่างอื่นในช่องท้องด้วยซึ่งต้องการการรักษา และไม่สามารถจะรักษาส่วนนั้น โดยวิธี laparoscopy ได้
    1.3  ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพซึ่งอาจจะทำให้การผ่าตัดโดยวิธีนี้ยุ่งยาก ลำบาก หรือมีโอกาสปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างมาก จนถึงขั้น Acute gangrenous cholecystitis หรือ Acute Empyema of gallbladder หรือผู้ป่วยที่มี liver cirrhosis หรือ เคยผ่าตัดช่องท้องส่วนบนมาแล้ว เป็นต้น ยกเว้นถ้าศัลยแพทย์นั้นมีความชำนาญมากแล้ว อาจพิจารณาใช้วิธีนี้ได้ แต่ก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นวิธีเปิดหน้าท้อง เมื่อเห็นว่าอาจเกิดปัญหา
  1. ศัลยแพทย์ผู้สามารถทำ laparoscopic cholecystectomy
    2.1  ควรเป็นศัลยแพทย์ซึ่งผ่านการฝึกอบรมและ ได้รับวุฒิบัตรฯ หรืออนุมัติบัตรฯ สาขา ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    2.2  ศัลยแพทย์ควรจะได้ผ่านการอบรม Laparoscopic cholecystectomy workshop มาแล้ว
    2.3  ศัลยแพทย์ผู้นั้นควรจะได้มีประสบการณ์ช่วยการผ่าตัดชนิดนี้กับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์มาแล้วอย่างน้อย 20 ราย และได้มีประสบการณ์ ทำการผ่าตัดเทคนิคนี้ด้วยตนเอง ภายใต้การควบคุมของศัลยแพทย์ผู้มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ราย

 

การคล้องนิ่วท่อน้ำดีด้วยกล้องวีดิทัศน์ ENDOSCOPIC RETROGRADE CHOLANGIO PANCREATOGRAPHY (ERCP)

 

เป็นการใช้กล้องส่องเข้าทางปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก มีการฉีดสารทึบแสง เพื่อดูพยาธิสภาพของท่อน้ำดี ในกรณีที่พบนิ่วในท่อน้ำดี สามารถขบให้นิ่วแตก หรือส่องกล้องคล้องออกหากพบท่อน้ำดีหุบแฟบแพทย์จะใส่ท่อดามไว้เพื่อให้ทางเดินน้ำดีไม่ถูกอุดกั้น

ผู้ที่จะตรวจควรได้พบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและรับทราบการเตรียมตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับยาต่อเนื่อง เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยารักษาโรคหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

 

การตรวจอวัยวะภายในด้วยกล้องคลื่นความถี่สูง ENDOSCOPIC ULTRASONOGRAPHY (EUS)

 

การตรวจอวัยวะภายในโดยการส่องกล้องที่ติดเครื่องอัลตร้าซาวด์  เป็นการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร  ตั้งแต่หลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ต่อมน้ำดี ตับอ่อน และลำไส้เล็ก  ลำไส้ใหญ่  ทวารหนัก  โดยอาจส่องกล้องเข้าทางปากหรือทวารหนักตามแต่พยาธิสภาพของโรค  รวมทั้งสามารถใช้คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์  เพื่อตรวจอวัยวะใกล้เคียง  เพื่อตรวจสอบการลุกลามของโรคมะเร็งที่อาจมีการแพร่กระจาย  และสามารถตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อการส่งตรวจเพิ่มเติมได้ หรือฉีดยาเจาะถุงน้ำดี ข้อดีคือ เมื่อตรวจพบพยาธิสภาพสามารถให้การรักษาได้ทันทีในการทำหัตถการนี้อาจไม่ต้องไปผ่าตัดอีก ผู้ป่วยไม่บาดแผลไม่ต้องนอนพักค้างในโรงพยาบาลก็ได้